ป้ายกำกับ

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

หลอดสวนเพื่อการฟอกเลือด

ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วิธีการกำจัดของเสียออกจากเลือดอันหนึ่งคือใช้เครื่องไตเทียมสำหรับฟอกเลือด โดยการนำเลือดออกจากผู้ป่วยมายังเครื่องและนำเลือดกลับเข้าร่างกายผู้ป่วย วิธีการหนึ่งคือการใช้หลอดสวนที่มีสองช่องทาง (Double Lumens) 
แบ่งหลอดสวนตามลักษณะการใช้งานได้ 2 กลุ่มใหญ่คือ
หลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิดชั่วคราว (Temporary dialysis catheter)
ภาพตัวอย่างหลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิดชั่วคราว
หลอดสวนชนิดชั่วคราวเวลาใส่เข้าหลอดเลือดดำจะไม่ได้มีส่วนของสายลอดใต้โพรงใต้ผิวหนัง (non tunnel) ดังรูป
ภาพหลังใส่หลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิดชั่วคราว จะเห็นว่าสายโผล่จะรูที่ใส่สายโดยตรง ไม่มีการทำอุโมงให้ส่วนของสายลอดผ่าน (Non-tunnel, Non-cuffed)

หลอดสวนสำหรับฟอกไตชนิดถาวร (Permanent dialysis catheter) หรือที่เรียกกันติดปาก ว่า Perm Cath.
มีหลายชนิด เช่น
รุ่น Titan ของบริษัท Medcomp
ภาพตัวอย่างหลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิดถาวร รุ่น Titan ของบริษัท Medcomp สายเป็นเส้นเดียวแต่แบ่งเป็นสองช่องสำหรับดูดเลือดออกและนำเลือดเข้า ปลายของช่องเปิดจะเหลื่อมกันเล็กน้อย

รุ่น  Split Stream ของบริษัท Medcom
ภาพตัวอย่างหลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิดถาวร แบบ Split stream โดยที่ปลายหลอดสวนสามารถฉีกให้แยกห่างออกจากกันได้
รุ่น Tesio ของบริษัท Med com
ภาพตัวอย่างหลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิดภาวร รุ่น Tesio หลอดสวนสองเส้นแยกกันเด็ดขาด
หลอดสวนชนิดถาวรจะมีส่วนที่เรียกว่า cuff (ส่วนนูนของสาย เป็นส่วนที่จะถูกฝังอยูใต่ผิวหนัง) มีประโยชน์ในการกระตุ้นให้สายยึดติดกับเนื้อเยื่อซึ่งจะป้องกันทั้งการหลุดเลื่อนของสายและป้องกันไม่ให้เชื้อโรคผ่านเลย cuff เข้าไปถึงหลอดเลือด
ตัวอย่างภาพผู้ป่วยหลังการใส่สายชนิด Tunneled cuffed double lumen catheter เป็นดังต่อไปนี้
ภาพตัวอย่างหลังใส่หลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิด Tunneled Cuffed Double lumen จะเห็นว่ามีส่วนที่ลอดใต่ผิวหนัง (ส่วนที่โค้งตอนบน) และบางส่วนของสายโผล่ออกคนละจุดกับจุดที่หลอดสวนเข้าหลอดเลือดดำ

การประเมินผู้ป่วยก่อนทำหัตถการ
ประวัติ
  1. มีประวัติโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำของแขนขาหรือไม่
  2. เคยสหลอดสวนเพื่อฟอกไตหรือหลอดสวนชนิดอื่นมาก่อนหรือไม่
  3. ตำแหน่งที่เคยใส่หลอดสวนหรือเคยใส่ Pacemaker
  4. ขณะนี้ใส่หลอดสวนอยู่หรือไม่ คอด้านซ้ายหรือขวา ไหล่ด้านซ้ายหรือขวา ขาหนีบด้านซ้ายหรือขวา
  5. ถ้าเคยใส่มาก่อนเคยเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนกลางหรือเคยติดเชื้อหรือไม่
  6. มีประวัติเลือดหยุดยากหรือภาวะผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดหรือไม่
  7. เคยได้รับอุบัติเหตุของแขน ไหล่ คอ หรือไม่
  8. รับประทานยาต้านเกร็ดเลือด (antiplatelets) เช่น Copridogrel (Plavix), Ticlopidine (Ticlid) หรือไม่
  9. รับประทานยาป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว เช่น Warfarin (Coumadin) หรือฉีดยากลุ่ม Heparin หรือไม่
การตรวจร่างกาย
  1. แขน คอ หรือหน้าอกมีการติดเชื้อใดๆ หรือไม่
  2. แขนบวมหรือไม่
  3. มีภาวะผิดปกติของทรวงอกหรือหลอดเลือดหรือไม่
  4. มีก้อนที่คอ หน้าอก ปอด หรือใน Mediastinum หรือไม่
  5. มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดหรือไม่
การตรวจทางห้องปฏิบัติการและเอกซเรย์
  1. การตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White blood cell count)
  2. ตรวจนับเกร็ดเลือด (Platelets count)
  3. ตรวจการแข็งตัวของเลือด (Bleeding time, PT, INR และ PTT)
  4. เอกซเรย์ปอด (บางครั้ง)
ข้อบ่งชี้ (Indication)

  1. ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นไตวายเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือด เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุที่เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันซึ่งมักต้องการเพียงการใส่หลอดสวนชนิดชั่วคราวเพื่อฟอกเลือดและรอเวลาที่ไตอาจกลับมาทำงานได้ตามปกติซึ่งมักใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3  สัปดาห์
  2. ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีอาการของภาวะ uremia ที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดแบบเร่งด่วน
  3. ใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด internal arteriovenous fistula (AVF) หรือ ทำผ่าตัด interposition arteriovenous  graft (AVG) ที่ยังไม่พร้อมจะใช้ (ยังไม่ Mature) แต่จำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือด
  4. ใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการทำ Peritoneal dialysis เช่น เคยผ่าตัดหน้าท้องมาหลายครั้ง
  5. ใช้ในผู้ป่วยที่ทำการล้างไตผ่านหน้าท้องที่มีการติดเชื้อในช่องท้องอยู่
  6. ไม่สามารถทำ arteriovenous fistula ได้ เช่นหลอดเลือดแดงมี severe atherosclerosis หรือมีปัญหาแขนขาขาดเลือดอยางรุนแรง
  7. ต้องการพักหลอดเลือดดำหรือหรือหลอดเลือดเทียมที่ใช้แทงเพื่อฟอกเลือดชั่วคราว เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนเช่น มีการติดเชื้อที่หลอดเลือดเทียมหรือมีอาการบวมช้ำเป็นจ้ำๆรอบๆหลอดเลือดเป็นต้น
  8. ใช้ในผู้ป่วยที่กลัวเข็ม เพราะการทำ AVF หรือ AVG ต้องมีการแทงเข็ม 2 เข็มต่อการฟอก 1 ครั้ง
  9. ใช้ในผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อฟอกเลือดทั้งแขนและขาจนไม่มีที่ให้ทำแล้ว
ข้อห้าม (Contraindication)
ไม่มีข้อห้ามที่แน่นอนตายตัวในการใส่หลอดสวนเพื่อฟอกเลือดแต่ไม่ควรทำหรือควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะดังต่อไปนี้

  1. มีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือบริเวณที่จะทำมีแผลติดเชื้อแต่อาจเลี่ยงไปแทงบริเวณอื่นได้
  2. ภาวะเลือดไม่แข็งตัวหรือเกร็ดเลือดต่ำมากควรจะแก้ไขให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะมาทำ
  3. ผู้ป่วยไม่ร่วมมือไม่ว่าจะเป็นจากอารมณ์ไม่ปกติหรือไม่ค่อยรู้สึกตัว
เทคนิคการใส่หลอดสวน
สำหรับภาพวิธีการใส่หลอดสวนยังไม่สมบูรณ์ ขอให้ดูจากวิดีโอ ของเว็บอื่นก่อน ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างที่หนึ่ง วิดีโอแสดงการใส่หลอดสวนสำหรับฟอกเลือดชนิดชั่วคราว

ตัวอย่างที่สอง วิดีโอแสดงการใส่หลอดสวนเทคนิคเดียวกับ หลอดสวนรุ่น Titan

ตัวอย่างที่สาม วิดีโอแสดงการใส่หลอดชนิด Split stream

หากเปิดวิดีโอไม่ได้ให้ลองดูจาก ลิงค์ youtube ข้างล่างนี้
การใส่หลอดสวนชนิด split stream

ตัวอย่างที่สี่ วิดีโอแสดงการใสหลอดสวนชนิด Tesio 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย
ภาวะแทรกซ้อนจากการใส่หลอดสวนชนิดใชัชั่วคราวพบประมาณ 30-50%
ภาวะแทรกซ้อนจากการใส่หลอดสวนชนิดถาวรพบประมาณ 20-30%
โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ

  1. ระยะเฉียบพลัน ได้แก่ Pneumothorax, arterial puncture, arterial cannulation, air embolism, malposition, bleeding from the subcutaneous tunnel
  2. ระยะกึ่งเฉียบพลัน ได้แก่ malposition, infection
  3. ระยะหลัง ได้แก่ nonfunction, fragmentation, infection
กรณีหลอดสวนอุดตันจาก thrombosis หรือ fibrin sheath การแก้ไขเบื้องต้น ให้ลอง streptokinase 250,000 unit ผสม normal saline ให้ได้ 2 ml หล่อเข้าสายหลอดรูที่อุดตัน แล้วรอ 2 ชั่วโมง จึงลองดูเลือดดูว่ายังฝืดหรือไม่ หากยังดูดได้ไม่คล่อง ให้ลองทำซ้ำอีกครั้งหนึ่ง หากได้ผล ให้หล่อ Heparin ไว้ แล้วลองใช้ล้างไตต่อไปในภายหน้า แต่หากไม่ได้ผลต้องให้แพทย์ประเมินการเปลี่ยนสายอีกต่อไป
การถอดหลอดสวน 
กรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้หลอดสวนสำหรับฟอกเลือดอีกต่อไป ก็ควรจะผ่าตัดถอดหลอดสวนออกจากร่างกายเพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด
การถอดหลอดสวนสำหรับฟอกเลือดแบบชั่วคราว
  1. เตรียม dressing set และกรรไกรตัดไหม (หรือใบมีดเบอร์ 11)
  2. หลังจากถอดผ้าก๊อสพันสายและที่ผิดรอยแผลออกหมด ทำความสะอาดผิวด้วยน้ำยา 2% Chlorhexidine
  3. ตัดไหมที่ยึด suture wing ของหลอดสวนกับผิวหนังให้ขาด เพื่อให้หลอดสวนเป็นอิสระจากผิวหนัง
  4. ค่อยๆดึงสายออกจากหลอดเลือด เมื่อปลายของหลอดสวนใกล้จะโผล่ออกจากหลอดเลือด ให้ใช้มือ (ที่สวมถุงมือ) กดบาดแผลไว้นาน 5 นาทีจนกระทั่งไม่มีเลือดซืมออกจากบาดแผล
  5. ปิดบาดแผลด้วยผ้าก๊อสและพลาสเตอร์แบบ  Pressure dressing technique
  6. ทำแผลวันละครั้ง โดยตั้งแต่ครั้งที่สองเป็นต้นไปไม่จำเป็นต้อง pressure dressing แล้ว จนกว่าแผลแห้งหายดี
การถอดหลอดสวนสำหรับฟอกเลือดแบบถาวร
  1. เตรียม set suture และใบมีดเบอร์ 15
  2. หลังจากถอดผ้าก๊อสพันสายและที่ผิดรอยแผลออกหมด ทำความสะอาดผิวด้วยน้ำยา 2% Chlorhexidine เป็นบริเวณกว้าง ฟอกหลอดสวนจนสะอาด
  3. ฉีดยาชา (1-2% Lidocaine) เข้าผิวหนังบรเวณที่จะกรีดแผลผ่าตัด ซึ่งกรณีแล้วแต่ว่าตำแหน่งของ cuff ของหลอดสวนอยู่ห่างจากรู tunnel exit site (รูที่หลอดสวนโผล่พ้นออกนอกผิวหนัง) มากแค่ไหน โดยปกติถ้า cuff อยู่ห่างจาก exit site เกิน 2 เซนติเมตร แพทย์จะเลือกผ่า incision ตรงตำแหน่ง cuff ไปเลย แต่ถ้าห่างไมเกินแพทย์จะลองถ่างขยาย exit site ด้วย arterial clamp เพื่อไม่ต้องมีแผลสองแผล
  4. แพทย์พยายามเลาะพังผืดที่เกาะกับ cuff ให้แยกออกจากกันเด็ดขาด จนแน่ใจว่าหลอดสวนไม่ยึดติดกับเนื้อเยื่อผู้ป่วยแล้ว และทดสอบโดยค่อยๆดึงหลอดสวนออกทีละน้อยได้อย่างสะดวก บางครั้งที่ดึออกยาก แพทย์อาจดูด้วย Fluoroscopy เพื่อดูว่ามีการติดขัดจากอะไร
  5. เมื่อดึงหลอดสวนออกมาได้หมดแล้ว ก็กดบาดแผลไว้นาน 5 นาทีจนกระทั่งแน่ใจว่าไม่มีเลือดออก ก็พิจารณาเย็บแผล(หรือไม่เย็บหากแผลเล็ก) 
  6. ปิดบาดแผลด้วยผ้าก๊อสและ Pressure Dressing 
  7. ล้างแผลทุกวันวันละครั้งจนกระทั่งแผลแห้ง
  8. กรณีมีการเย็บแผลให้นัดตัดไหมเมื่อครบเวลา 7 วัน
กลับสู่ หน้า สารบัญบทความ


วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

Breast: stereotactic biopsy

เป็นการใช้ biopsy โดยใช้เครื่อง Mammography ที่ออกแบบพิเศษเพื่อ biopsy รอยโรคที่พบได้โดย mammography เท่านั้น

ต่อไปนี้เป็น ลิงค์ ไปถึงวิดีโอแสดงตัวอย่างขั้นการทำ stereotactic biopsy เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบพอสังเขป
Breast Stereotactic biopsy Video



เนื่องจากรอยโรคที่พบได้ใน Mammography อย่างเดียว (เช่น cluster microcalcifications, spiculated lesion) พบได้น้อยและเครื่อง stereotactic biopsy มีราคาสูง จึงยังไม่มีใช้ในแผนก imaging ของเรา



กลับสู่ สารบัญบทความ

ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดและการหยุดยาก่อนทำหัตถการ

หัตการการทางรังสีร่วมรักษาแม้ว่าจะรูเล็กและบาดแผลน้อย แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีความบกพร่องของการแข็งตัวของเลือด ไม่ว่าเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่างหรือยาที่มีผลบางชนิด จำเป็นต้องมีความระมัดระวัง
เราจะแบ่งหัตถการเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีโอกาสเสียเลือดง่ายและยาก
หัตถการที่เสี่ยงต่ำต่อการเสียเลือดง่าย คือเสียเลือดเพียง 2-3 หยดโดยประมาณ ได้แก่หัตถการที่ รูเล็กมากกว่า 1 มม โดยประมาณและเจาะในตำแหน่งที่ตื้นๆ เช่นไธรอยด์ เต้านม ต่อมน้ำเหลืองหรือก้อนที่อยู่ใกล้ผิวหนัง เป็นต้น
หัตถการทีเสี่ยงสูงต่อเสียเลือดง่าย ได้แก่หัตถการที่รูแผลใหญ่กว่า 1 มม ขึ้นมา หรือเป็นหัตถการที่ รู เล็กกว่า 1มม. ก็ตามแต่เป็นอวัยวะที่อยู่ลึกกว่า เช่น ภายในช่องท้อง ภายในช่องอก
เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบแล้วว่าหัตถการที่รับปรึกษานั้นเสี่ยงต่ำหรือสูง ลำดับถัดมา จำเป็นต้องถามระวัติโรคหรือยาที่มีผลให้เลือดแข็งตัวช้า ซึ่งจะมีผลต่อการเสียเลือดมากกว่าธรรมดา ได้แก่
ประวัติโรคเลือดออกหยุดยาก ได้แก่
โรคฮีโมฟิลเลีย (Hemophillia)
โรค Idiopathic Thrombocytopenia
โรคตับแข็ง
เป็นต้น
ประวัติผู้ป่วยที่อาจได้รับยาที่ลดการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ ยา
Aspirin
NSAID
Ticagrelor
Clopidogrel
Prasugrel
Ticlopidine
Warfarin
ซึ่งยาแต่ละตัวมีคำแนะนำในการให้ระยะเวลาหยุดยาก่อนทำหัตถการแตกต่างกัน เช่น
Aspirin ไม่ต้องหยุดยาเลย เพราะมีผลไม่มากนัก
Ticagrelor หยุดยา 3-5 วันก่อนทำหัตถการ
Clopidogrel หยุดยา  5 วันก่อนทำหัตถการ
Prasugrel หยุดยา  7 วันก่อนทำหัตถการ
Ticlopidine หยุดยา 10-14 วันก่อนทำหัตถการ
การได้รับยาชนิดใดจึงมีผลต่อวันนัดทำหัตถการได้เร็วที่สุดแค่ไหนจึงจะลดความเสี่ยงต่อการเลือดออกหยุดช้า
นอกจากนี้ เมื่อถึงวันครบกำหนดหยุดยาแล้ว แพทย์ยังจำเป็นต้องยืนยันด้วยการตรวจเลือดหาค่า PT,PTT, Platelet count และ Bleeding time อีกเพื่อแน่ใจว่าผลของยาน้อยจนค่าการแข็งตัวของเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้สามารถทำหัตถการได้

กลับสู่ สารบัญบทความ


วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การเจาะน้ำในช่องท้อง (Ascites Aspiration)

สำหรับความรู้เบื้องต้นเรื่องน้ำในช่องท้อง ขอให้เจ้าหน้าที่อ่านได้ตามลิงค์ นี้ น้ำในช่องท้อง (Ascites)

การเตรียมตัวก่อนเจาะดูดน้ำในช่องท้อง

แพทย์ผู้เจาะจะทบทวนประวัติเจ็บป่วยผู้ป่วย 
จุดประสงค์ของการดูดน้ำในช่องอกครั้งนี้ว่าจะส่งตรวจอะไรบ้างหรือระบายน้ำออกมากที่สุดเพื่อบรรเทาอาการอีดอัดแน่นท้อง เจ้าหน้าที่จะได้ตรียมภาชนะบรรจุทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม
ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกง่ายหยุดยากหรือไม่ เช่น กำลังได้รับยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น มีค่าเกร็ดเลือดเท่าไร ค่าการแข็งตัวของเลือดเท่าไร (PT, PTT)
ไม่ต้องสั่งงดอาหารหรือน้ำ

เครื่องมือและอุปกรณ์

  เครื่องอัลตร้าซาวนด์หัวตรวจความถี่ 1-5 MHZ (หัวโค้ง)
-          ปากกาหมึก permanent สำหรับทำเครื่องหมายบนผิวหนัง
-          ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ sterile สำหรับห่อหุ้มหัวตรวจอัลตร้าซาวดน์พร้อมยางรัด sterile
-          เข็ม sheath needle (Jelgo) ขนาด 18G X ยาว 32 mm, ขนาด 16G X ยาว 50 mm. หรือเข็ม  spinal needle 18G X ยาว 100 mm
-            Dressing set
             2% chlorhexidine
-            ผ้าช่อง
-            Ultrasound jelly sterile
             2% Hibitaine solution
-            Xylocain 2% with adrenaline
-            Syringe ขนาด 10 ml, 20 ml, 50 ml แล้วแต่ปริมาณน้ำประมาณไว้
-            เข็มยาชาเบอร์ 18G and 24G
             ขวด sterile สำหรับเก็บของเหลวส่งตรวจ
             ขวด 50 ml สำหรับใส่น้ำส่งตรวจ cytology
             Three way stop cock 
             Extension tube ยาวๆ สำหรับเชื่อมต่อระหว่างปลาย sheath needle กับขวดระบาย
             ขวด 1,000 ml ไม่ต้อง sterile สำหรับบรรจุของเหลวที่ต้องการระบายทิ้งหรือส่งตรวจ cytology

ขั้นตอนการเจาะโดยสังเขป


  • แพทย์ทำอัลตร้าซาวดน์ช่องท้องเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเจาะดูดน้ำในช่องท้อง
  • ได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วจะจุดน้ำหมึกเป็นสัญลักษณ์ที่ผิวหนัง
  • ผู้ช่วยแพทย์ยืนยันตัวผู้ป่วยและหัตถารที่ทำ
  • ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยา Hibitaine 2% 
  • คลุมผิวหนังส่วนที่จะสอดเข็มด้วยผ้าช่อง
  • ฉีดยาชาที่ผิวหนังให้ผู้ป่วย
  • นำถุงพลาสติกปลอดเชื้อคลุมหัวตรวจอัลตร้าซาวดน์ (หัวตรวจ sector)ที่ทา jelly แล้ว และรัดยางให้แน่นแพทย์ทา sterile jelly ที่หัวตรวจอัลตร้าซาวดน์และฉีดยาชาเข้าไปในผนังช่องท้องผ่านการมองเห็นจากภาพอัลตร้าซาวดน์
  • แพทย์ใช้เข็ม Medicut สอดเข้าไปถึงช่องท้องและเมื่อปลายเข็มอยู่ภายในน้ำในช่องท้องแล้วแพทย์ถอนแกนเข็มออกเหลือแต่ท่อพลาสติกคาอยู่ นำ 3-way-stop-cock ต่อเข้ากับข้อต่อของปลอกพลาสติกเพื่อล็อกไม่ให้น้ำรั่ว เปิดทิศทางให้ดูดน้ำออกเข้ามาใน syringe มาเก็บใส่ขวดบรรจุขนาดต่างๆ 
  • กรณีที่ต้องระบายน้ำออกแพทย์จะต่อ extension tube ยาวๆเข้ากับ 3-way-stop cock แล้วเปิดให้น้ำระบายลงในขวดใบใหญ่ระบายออกไห้มากที่สุดแต่ไม่เกิน 5 ลิตร
  • เเมื่อน้ำหมดแล้ว ถอดปลอกพลาสติกออกและปิดบาดแผลรูเจาะด้วยผ้าก๊อสและพลาสเตอร์
  • ระหว่างการทำหัตถการเจ้าหน้าที่ค่อยสังเกตผู้ป่วย วัดความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะๆ
  • เสร็จหัตถการแจ้งเจ้าหน้าเปลมารับส่งต่อผู้ป่วยกลับไปยังตึกผู้ป่วยในหรือห้องรอตรวจผู้ปว่ยนอกตามประสงค์
กลับสู่หน้าสารบัญบทความ





-

การใส่สายระบายฝีในตับ (Percutaneous drainage of Liver abscess)

ฝีในตับ (Liver abscess) คือการติดเชื้อและเกิดเป็นโพรงหนองขังอยู่ในตับ

การเกิด: ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่มักเกิดกับผู้ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์มาก โรคภูมิคุ้มันบกพร่องต่างๆ

อาการ:มักจะปวดถ้าเป็นที่ตับกลีบขวา จะปวดบริเวณชายโครงขวา ถ้าเป็นที่ตับกลีบซ้ายก็จะปวดบริเวณลิ้นปี่ บางครั้งจะพบมีไข้สูง 

การตรวจพบ เมื่อแพทย์สงสัยอาการผิดปกติเกี่ยวกับช่องท้อง เบื้องต้นจะส่งตรวจอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งอาจพบลักษณะดังรูป
รูปภาพอัลตราซาวนด์แสดงฝีขนาด 9.3 X 7.6 cm อยู่ภายในตับกลีบขวา จะเห็นเป็นวงกลมขอบหยักภายในไม่เรียบมีทั้งสีขาว เทา ดำปนกัน




การรักษา: โดยทั่วไปต้องเจาะดูดนำหนองออกมาพิสูจน์ว่าลักษณะค่อนไปทางเชื้ออมีบาหรือเชื้อแบคทีเรีย แล้วให้ยาปฏิชีวนะที่สามารถทำลายเชื้อเหล่านั้นได้ 
ส่วนการระบายหนองออกนั้นแพทย์บางท่านจะถือว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 5 ซม. ควรใส่ท่อระบาย แต่ถ้าจำนวนฝีมากเกินกว่าจะใส่สายระบายทางผิวหนังไหว จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ระบายฝีหนอง
รายละเอียดการรักษา

แพทย์ตรวจดูภาพอัลตร้าซาวดน์ CT หรือ MRI ที่จำเป็นต่อการวางแผนการรักษา
คำแนะนำก่อนการรักษา
ให้ผู้ป่วยดูสื่อทำหัตถการ
การงดยาละลายลิ่มเลือด เช่น Warfarin และยาต้าน platelet
คำยินยอมรับการรักษา

การนัดหมาย

การเตรียมผู้ป่วย
รับไว้เป็นผู้ป่วยใน
งดอาหารและน้ำทางปาก 6 ชั่วโมงก่อนเวลารักษา
ตรวจเลือดหาค่า PT, PTT, CBC, BUN/Cr
ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อ 
Cefazolin 1 gm (นน.น้อยกว่า 60kg), 2gm (นน 60-120kg), 3gm (นนกว่า 120kg) ก่อนหัตถการ 60 นาที
กรณีแพ้ยากลุ่ม Penicillin ให้
Vancomycin 1gm ก่อนหัตถการ 120 นาที


เตรียมยาแก้ปวด Morphine sulphate มาพร้อมกับผู้ป่วย

การเตรียมอุปกรณ์


เซต Suture

ถุงมือสเตอไรด์ เบอร์ 7-7 1/2

ปากกาเขียนไวท์บอร์ด แบบ permanent

Betadine solution

เข็มเบอร์ 18, 24

ยาชา xylocain 1% หรือ 2% with adrenaline

ถุงพลาสติกสเตอไรล์ไว้หุ้ม probe ultrasound พร้อมด้วยยางรัดธรรมดา

Sterilized ultrasound jelly (or sterile K-Y jelly)

เข็ม Troca เบอร์ 18 ยาว 10-15 ซม

Amplatz stiff guide wire 0.038” ความยาว 80 cm

Contrast media

Dilator ขนาด 6 F, 8F, 10F, 12F

สาย Drainage 10F, 12F , 14F

ถุง urine bag สำหรับบรรจุหนองที่ระบายออก
      ข้อต่อยางสำหรับเชื่อมสายระบายกับถุง urine bag 


ขั้นตอนและเทคนิค

  • ผู้ป่วยมาถึงห้องตรวจ fluoroscopy (และมี Ultrasound)
  • ให้ Morphine 5mg IV เมื่อผู้ป่วยมาถึง
  • จัดท่าผู้ป่วยในท่าคว่ำหรือตะแคงด้านที่จะใส่สายขึ้นแล้วแต่กรณี
  • แพทย์ตรวจอัลตร้าซาวดน์ เพื่อกำหนดจุดใส่สายระบาย
  • ทำความสะอาดผิวด้วย Chlorhexidine
  • คลุมผ้าสะอาดและผ้าช่อง
  • หุ้ม ultrasound probe ด้วยถุงพลาสติก sterile
  • ฉีดยาชา under ultrasound guidance
  • ทำ skin knick ด้วย blade No.11
  • ถ้าเป็นวิธี Troca technique จะทำดังนี้
  • สอดสายระบายเข้าโดยตรง
การใส่สายระบายโดยตรงแบบ direct troca technique โดยใช้่่่อัลตร้าซาวดน์นำวิถี แพทย์สามารถเห็นปลายท่อระบายเดินทางเข้าไปถึงตัวฝีได้ตลอดความเคลื่อนไว (Realtime) 

  • ถ้าเป็นวิธี Seldinger technique จะทำดังนี้
  • สอดสายระบายเข้าโดยผ่าน guide wire โดยขั้นแรก จะ puncture ด้วยเข็ม Chiba No.18 ก่อน
  •  ต่อการฉีดสารทึบรังสี (contrast media) ผ่านเข็มเข้าไปในตัวฝีเพื่อดูขอบเขต ระหว่างนี้แพทย์จะตรวจด้วยเครื่อง fluoroscopy ด้วย
  •  สอด 0.38" amplat stiffed guide wire เข้าทางรูเข็มเข้าไปอยู่ในฝี ต่อมาถอยเข็ม Chiba ออก เหลือแต่ guide wire คาไว้ในฝี นำ Dilator สอดเข้า guide wire เพื่อขยายเส้นทางผ่านของ guidwire จากเบอร์เล็กมาจนถึงขนาดที่ต้องการคือ 5F, 6F, 8F, 10F, 12F ตามลำดับ
  •  ขั้นสุดท้ายประกอบสายระบาย 14F เข้ากับแกนโลหะสอดผ่าน guide wire ลงไปในฝี ถอดแกนโลหะออกคาสายระบายเอาไว้ ล็อค pigtail loop
  • เย็บสายไว้กับผิวหนัง
  • ดูดหนองออกให้มากที่สุด
  • ฉีดน้ำเกลือนอร์มอลเข้าทางสายเข้าไปในฝีเพื่อชะล้างเศษหนองหรือเนื้อตับที่ยุ่ยและดูดออกให้มากที่สุด 
  • ปิดพลาสเตอร์คลุมแผลใส่สายให้เรียบร้อย
  • แพทย์เขียนบันทึกการรักษาและคำสั่่งการดูแลหลังหัตถการ

การติดตามอาการ


  • เฝ้าระวังเลือดออก โดยวัด BP, pulse ทุก 15 นาทีในชั่วโมงแรก, ทุก 30 นาทีในสองชั่วโมงถัดมา, และ ทุก 1 ชั่วโมงในสี่ชั่วโมงถัดมา
  • เฝ้าระวังการปวด โดยสั่งยาแก้ปวดตามความเหมาะสม
  • เฝ้าระวังสายเลื่อนหลุด 




กลับสู่หน้า สารบัญบทความ

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

PERCUTANEOUS ABLATION

ความหมาย
percutaneous: ผ่านทางผิวหนัง
Ablation: การทำลาย
Percutaneous Ablation: การทำลายผ่านทางผิวหนัง หมายถึงสอดเครื่องมือผ่านทางผิวหนังแล้วทำลายรอยโรค
วิธีการทำลายรอยโรค

  • ใช้สารเคมี เช่น เอธานอลเข้มข้น สำหรับ เนื้องอก ซิสต์ 
  • ใช้ความร้อน สำหรับ เนื้องอก, เส้นเลือดขอด

แหล่งกำเนิดความร้อน มีหลายทางเลือก ได้แก่
คลืนวิทยุ (Radiofrequency, RF)
คลื่นไมโครเวฟ (Microwave)
เลเซอร์ (Laser)

  • ใช้ความเย็น สำหรับ เนื้องอก แหล่งกำเนิดความเย็นได้แก่ ไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen)


วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การรักษามะเร็งปอดด้วยเข็มความร้อน

ความหมาย
การรักษามะเร็งปอดด้วยเข็มความร้อน (Percutaneous Ablation of lung cancer) หมายถึงการทำลายมะเร็งด้วยการสอดเข็มพิเศษเข้าไปยังรอยโรค และปล่อยความร้อนกระจายไปรอบปลายเข็มเพื่อทำลายเนื้อเยื่อของมะเร็ง ดังภาพตัวอย่างด้านล่างนี้
แผนภาพแสดงเข็มน้ำความร้อนเพื่อทำลายมะเร็งปอดด้านขวา

ข้อบ่งชี้การรักษา

  • การทำลายเนื้องอกให้หมด
  • กรณีที่สภาวะผู้ป่วยไม่สามารถทนรับการผ่าตัดได้ จะใช้วิธีนี้ทำลายเนื้องอกก้อนเล็กกว่า 3 ซม. ให้หมดไปได้
  • การทำลายเนื้องอกบางส่วนเพื่อบรรเทาอาการ
  • กรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือติดกับอวัยวะสำคัญทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ การใช้เข็มความร้อนทำลายมะเร็งบางส่วนเพื่อบรรเทาอาการบางอย่างเช่น ไอเป็นเลือด อาการเหนื่อยหอบจากก้อนกดเบียดทางเดินหายใจ หรืออาการปวด

ข้อห้ามทำ

  • ภาวะเลือดออกหยุดยากที่ไม่สามารถควบคุมได้

ขั้นตอนการปรีกษา

  1. เจ้าหน้าที่รังสีหรือพยาบาลรับเรื่องปรึกษาและรวบรวมประวัติความเจ็บป่วย ภาพสแกนผู้ป่วยที่สำคัญ และประวัติความเสี่ยงรวมถึงยาที่เกี่ยวข้องกับภาวะเลือดออกหยุดยาก ให้กับรังสีแพทย์
  2. ติดต่อบริษัทตัวแทนเช่าเข็มความร้อนต่างๆ
  3. รังสีแพทย์ประเมินข้อมูล และระบุวันทำการรักษา และทำข้อตกลงกับแพทย์เจ้าของไข้และวิสัญญีแพทย์
  4. แพทย์เจ้าของไข้หรือรังสีแพทย์นัดผู้ป่วยมารักษาแบบผู้ป่วยใน
  5. ตรวจเลื่อดเพื่อหาความเสี่ยงต่อเลือดออกหยุดยาก ได้แก่ platelet count, PTT, PT และ INR
  6. วิสัญญีแพทย์มาประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนการให้ยาระงับความเจ็บปวดโดยเน้นที่ conscious sedation

การเตรียมตัว
ให้ผู้ป่วยศึกษาแนวทางการรักษาและการเตรียมตัวได้จาก ลิงค์นี้ มะเร็งปอด: การรักษาด้วยเข็มความร้อน
การเตรียมอุปกรณ์

  • ติดต่อเช่าเครื่องมืออุปกรณ์เข็มความร้อนจากบริษัทตัวแทนล่วงหน้า
  • เตรียมห้อง CT scan หรือ ห้อง DSA (กรณีเครื่องรุ่นใหม่ที่มีระบบนำร่อง (Needle navigation)
  • เอกสารเตรียมผู้ป่วย
  • เอกสารยินยอมรับการทำหัตถการ
  • วิสัญญีแพทย์เตรียมแผนการให้การระงับความรู้สึก
  • set ทำแผล
  • ชุดกาวน์สำหรับแพทย์
  • แถบติดผิวหนังสำหรับระบุตำแหน่งสอดเข็มสำหรับเครื่อง CT scan
  • ปากกาเขียนไวท์บอร์ดชนิดลบออกยาก
  • ถุงมือปลอดเชื้อ
  • น้ำยาทำความสะอาดผิวหนัง เช่น 2% Chlorhexidine, Betadine
  • เข็มยาชา เบอร์ 18G, 24G, และ Spinal needle 22G
  • ใบมีดเบอร์ 11
  • เข็มความร้อนจากบริษัทที่ติดต่อได้
  • พลาสเตอร์ปิดแผล
  • สายระบาย (กรณีมีลมรั่วในช่องอก) ขนาด 8F
  • Needle holder (คีมจับเข็มเย็บแผล)
  • ไหมเย็บผิวหนัง เช่น Silk, Nilon ขนาด 2,0
  • กรรไกรตัดไหม
  • หมอนทรายไว้กดห้ามเลือด

ขั้้นตอนการทำ
ผู้ป่วย admit ในตึกผู้ป่วยก่อนวันทำการรักษา เพื่อให้แพทย์ประเมินสภาพร่างกายก่อนรักษา
ส่งผู้ป่วยมายังแผนกรังสีวิทยาก่อนเวลานัดครึ่งชั่วโมง
เตรียมผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจ
ยืนยันการทำหัตถการถูกคน ถูกตำแหน่ง ถูกอวัยวะ (time out)
อธิบายขั้นตอนการตรวจให้ผู้ป่วยทราบและผู้ป่วยเซนต์ยินยอมรับการตรวจ
วิสัญญีแพทย์ให้การระงับความรู้สึกที่เหมาะสม 
พยาบาลวัด Vital Sign และลงบันทึกในแฟ้มประวัติผู้ป่วยก่อนการตรวจ
แพทย์ทำการ Localized ด้วยเครื่อง CT หรือ DSI (ตามแต่ที่วางแผนไว้) และทำ Marker ตำแหน่งที่จะเจาะด้วยปากกา 
เทคนิเชี่ยนเปิด Set  ทำแผล
เท Betadine Solution ใส่ถ้วย
แพทย์จะทำความสะอาดบริเวณที่จะเจาะด้วย Betadine Solution และปูผ้าสะอาด ตามด้วยสี่เหลี่ยมเจาะกลาง
พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่รังสีเตรียม 2 % Xylocaine  ให้แพทย์
แพทย์ทำการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณที่จะเจาะ  และใช้เข็มตามที่แพทย์ต้องการเจาะ  พร้อมทำการรักษาด้วยความร้อน
หลังจากทำการตรวจเสร็จ  แพทย์จะปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยา หรือ Gauze และอาจใช้หมอนทรายกดทับเพื่อช่วยการห้ามเลือด
กรณีมี pneumothorax มากในช่องอก แพทย์จะใส่สาย drainage ขนาด 8F เพื่อลดอาการผู้ป่วย และดูดลมออกจนหมด
พยาบาลวัด Vital Sign หลังตรวจเสร็จ  พร้อมทั้งบันทึกในแฟ้มประวัติผู้ป่วย
เทคนิเชี่ยนตรวจความเรียบร้อยของผู้ป่วย  คิดเงินในแฟ้มประวัติผู้ป่วย  ลงทะเบียนในคอมพิวเตอร์  และส่งผู้ป่วยกลับ Ward

การดูแลหลังการทำ
ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจติดตามอาการในหอผู้ป่วยในต่อไปอีก 1-2 วัน
ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารปกติได้หลังจากวัดชีพจรและความดันโลหิตคงที่ติดต่อกันนาาน 4-6 ชั่วโมง
วิสัญญีแพทย์ยังคงให้ยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำต่อไปอีกหนึ่งวัน แต่จะค่อยๆลดปริมาณยาลงขณะเดียวกันจะเริ่มยาเป็นชนิดรับประทานจนกระทั่งไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้ปวดทางรหลอดเลือดดำแล้วจึงกลับบบ้านได้
โดยทั่วไปแผลรูเข็มความร้อนจะสมานภายใน 2-3 วัน


กลับไปยังหน้า สารบัญบทความ

วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

ลมรั่วในช่องอก (pneumothorax):การใส่ท่อระบาย

ผู้ป่วยบางคนมีอาการแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย เนื่องจากมีลมรั่วอยู่ภายในช่องอก ซึ่งเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ถุงลมโป่งพอง, วัณโรค, โรคหืด, ปอดอักเสบ หรือมะเร็งปอด
ภาพแสดงปอดข้างขวาแฟบ (ลูกศรสีดำ) จากลมที่รั่วออกจากปอดและขังในช่องอก (หัวลูกศรสีส้ม) มีแรงดันเพิ่มขึ้นจนทำให้ปอดแฟบ


การตรวจพบ
โดยการเอกซเรย์ทรวงอก ดังภาพ
ภาพเอกซเรย์แสดงปอดข้างขวาแฟบ (ลูกศรสีดำ) จากลมที่รั่วในช่องอกแสดงให้เป็นว่าด้านขวามืดกว่าด้านซ้าย (หัวลูกศรสีส้ม) 

วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น

เป้าหมายคือลดอาการเหนื่อยหรือแน่นหน้าอกของผู้ป่วย คือการใส่ท่อพลาสติกเข้าไปในช่องอกเพื่อระบายอากาศออก
ภาพแสดงการสอดสายระบายเข้าในช่องอก
ท่อระบายในระบบทั่วไป มีขนาดใหญ่ มีข้อดี คือระบายดีทั้งของเหลวและอากาศ แต่ด้วยขนาดใหญ่ จะทำให้ผู้ป่วยทรมานและจำกัดการเคลื่อนไหวร่างกาย


ภาพแสดงส่วนของท่อระบายส่วนที่โผล่ออกนอกร่างกาย ถูกเย็บติดไว้กับผิวหนัง จะเห็นท่อมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยอาจปวดทรมานและเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก



จึงมีผู้ออกแบบท่อสำหรับระบายลมรั่วให้เล็ก ซึ่งก็มีประสิทธิภาพระบายอากาศในช่องออกได้ดี แผลเล็ก ใส่ง่าย ผลแทรกซ้อนน้อย และผู้ป่วยทนต่ออาการปวดได้ดี


สายระบายรุ่นใหม่ออกแบบให้มีขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพระบายลมรั่วได้ดี ผู้ป่วยเจ็บน้อย แผลเล็ก

การใส่ท่อระบายในกรณีไม่เร่งด่วนก็จะนิยมใช้เครื่องมือเอกซเรย์นำทางเพื่อให้เห็นปลายท่อที่สอดเคลื่อนที่เข้าไปถึงช่องอกอย่างแม่นยำและตรงตำแหน่งที่ต้องการจริงๆ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
เมื่อปอดขยายตัวได้เต็มที่แล้ว ไม่มีลมรั่วอยู่ในช่องอกอีกต่อไป แพทย์จะถอดสายออก

ต่อไปนี้เป็นรูปแสดงขั้นตอนการใส่ท่องระบายลมรั่วโดยอาศัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำทางและใส่ท่อระบายสอดแกนเข็มโดยตรง เรียกวิธีนี้ว่า "Direct Troca Technique"

ในตัวอย่างนี้ผู้ป่วยเป็นชายหนุ่มอายุน้อย มีลมรั่วในช่องอกข้างซ้าย
ลมรั่วในช่องอก(สีดำ) ด้านซ้ายประมาณ 30% ดันให้ปอดข้างซ้ายแฟบลงเล็กน้อย

แพทย์วางแผนจะวางปลายท่อระบายไว้ด้านหน้าสุดของช่องอก เนื่องจากขณะผู้ป่วยนอนหงายลมรั่วจะลอยขึ้นด้านบนสุดซึ่งก็คือด้านหน้าสุดของช่องอก

เมื่อผู้ป่วยนอนบนเตียงเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) แพทย์จะให้เจ้าหน้าที่ติดแถบกำหนดตำแหน่งที่ผิวหนังผู้ปวย

เมื่อเครื่องสแกนส่วนอกผู้ป่วย คอมพิวเตอร์สร้างภาพเอกซเรย์ออกมาในแนวต่างๆ เช่น แนวขวาง แนวยาว

เมื่อแพทย์ดูภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วจะทราบว่าตำแหน่งที่จะสอดท่อระบายอยู่ใกล้เคียงกับสเกลที่ผิวหนังลำดับที่เท่าใด ก็จะวัดระยะและมุมที่จะสอดท่อระบายได้ปลอดภัย



เจ้าหน้าวัดระยะความลึกบริเวณที่จะสอดท่อระบาย

แพทย์จะนำปากกาหมึกทีไม่ละลายในน้ำและแอลกอฮอล์แต้มบริเวณที่จะสอดท่อระบาย

ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะสอดสายด้วยน้ำยา Chlorhexidine 2%
ทำความสะอาดผิวด้วย Chlorhexidine

คลุมด้วยผ้าช่องปลอดเชื้อ
คลุมผ้าสะอาดบริเวณที่จะสอดสาย จะเห็นว่าจุดน้ำหมึกสัญญลักษณ์ที่จะใส่สายระดับเดียวกับหัวนม

เตรียมยาชา
แพทย์ดูดยาชา (Xylocaine) ออกจากขวดยา

ฉีดยาชาและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อีกครั้งว่าตำแหน่งที่ปักเข็มไม่คลาดเคลื่อน
แพทย์ฉีดยาชาตรงจุดน้ำหมึกที่วางแผนจะสอดท่อระบาย

ใช้ใบมีดเบอร์ 11 ทำรอยบากที่จุดฉีดยาชา ต่อด้วยขยายปากแผลด้วย arterial clamp ให้ปากแผลกว้างประมาณ 5 มม.
ใช้ arterial clamp ขยายปากแผลผิวหนัง

เตรียมท่อระบายขนาด 8F สอดแกนโลหะที่มีปลายแหลมและล็อคยึดไว้กับสายระบาย
ประกอบท่อระบายกับแกนลวดและแกนเข็มและล็อกเข้าด้วยกันให้กระชับ

สอดท่อติดแกนเข็มเข้าไปในช่องอกตามความลึกและทิศทางที่วางแผนไว้แต่ต้น
สอดชุดท่อระบายที่ติดเข็มเข้าทางผิวหนังตามความลึกที่วัดเอาไวตั้งแต่ต้น

 เมื่อแพทย์สัมผัสความรู้สึกว่าปลายท่อเข้าไปอยู่ในช่องอกแล้วจะถอนแกนโลหะออก คงเหลือแต่ท่อระบายพลาสติกไว้ในช่องอก 
ถอนแกนโลหะออก คงตำแหน่งสายไว้ที่เดิม

ดึงไหมที่ขั้วของปลายท่อให้ขดม้วนเป็นรูปกลม
ดึงไหมที่ปลายท่อระบายอีกด้านหนึ่งจะทำให้ปลายที่อยู่ด้านในช่องอกขดม้วนเป็นวงกลม

ภาพปลายสายระบายขดม้วนเมื่อเราดึงไหมออกจากภายนอกให้ตึง
ปลายท่อระบายขดเป็นวงกลมเมื่อเราดึงไหมจากปลายอีกด้านหนึ่ง

ต่อท่อระบายกับ 3-way-stop-cock
ต่อสายระบายเข้ากับ 3 way stop cock

ดูดอากาศออกจากช่องอกจนหมด
พยายามดูดอากาศออกจากช่องอกผ่านทางสายให้มากที่สุด
 สแกนเอกซเรย์อีกครั้งเพื่อดูปริมาณอากาศที่เหลืออยู่


ภาพ CT SCAN แสดงลมรั่วในช่องอกหายหมด ปลาย pig tail loop อยู่ในช่องอกใกล้กับหัวใจ 


ภาพ CT SCAN ในแนว Sagittal แสดงลมรั่วหายหมดแล้ว



ต่อท่อระบายกับระบบ ICD
ตัวอย่างระบบ CHEST DRAIN สำเร็จรูปแบบหนึ่ง

เย็บและตรึงท่อระบายไว้กับผิวหนังบริเวณทางเข้า
เย็บผิวหนังยึดผิวหนังและผูกไหมให้ยึดสายระบายไว้กับผิวหนัง

ปิดพลาสเตอร์ทับแผลทางออกสายและตัวสายเพื่อยึดให้แน่นกันเลื่อน
ปิดพลาสเตอร์ยึดสายระบายกับผิวหนังอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่นหนา


สแกนภาพ CT อีกครั้ง ยืนยันว่าลมรั่วได้ลดน้อยลงแล้ว

ส่งผู้ป่วยกลับหอผู้ป่วย

การเตรียมอุปกรณ์


เซต Suture

ถุงมือสเตอไรด์ เบอร์ 7-7 1/2
          CT MARKER 

ปากกาเขียนไวท์บอร์ด แบบ permanent

Betadine solution

เข็มเบอร์ 18, 24

ยาชา xylocain 1% หรือ 2% with adrenaline

ถุงพลาสติกสเตอไรล์ไว้หุ้ม probe ultrasound พร้อมด้วยยางรัดธรรมดา(เผื่อไว้กรณีใช้เครื่องอัลตร้าซาวดน์)
          เครื่อง CT scan (แล้วแต่แพทย์เลือก)
          เครื่อง fluoroscopy (แล้วแต่แพทย์เลือก)

Sterilized ultrasound jelly (or sterile K-Y jelly)

เข็ม Troca เบอร์ 18 ยาว 10-15 ซม. (เผื่อไว้)

Amplatz stiff guide wire 0.038” ความยาว 80 cm (เผื่อไว้)

Dilator ขนาด 6 F, 8F (เผื่อไว้)

สาย Drainage 8F
          ไหมเย็บขนาด 2.0 หรือ 3.0 



การติดตามอาการ
แพทย์จะตรวจเอกซเรย์ทรวงอกซ้ำอีกในวันรุ่งขึ้นว่าปอดขยายเต็มที่หรือยัง? แล้วลมรั่วหายหมดแล้วหรือยัง? 
ภาพเอกซเรย์ทรวงอกติดตามอาการ 1 วันหลังจากใส่สายระบาย จะเห็นปอดซ้ายขยายได้เกือบหมดมีเพียงลมรั่วในช่องอกเหลืออีกเล็กน้อย(ลูกศรสีแดง) ปลายสายระบายอยู่ในช่องอกข้างซ้าย (ลูกศรสีเขียว)

ถ้าหากปอดขยายเต็มแล้วแพทย์จะถอดสายออกและให้คนไข้กลับบ้านได้
พึงระลึกไว้ว่าการใส่สายระบายลมรั่วในช่องอกเป็นการรักษาเบื้องต้น ไม่ใช่รักษาที่สาเหตุ เช่น กรณีสาเหตุของลมรั่วเป็นจากถุงซิสต์ของเยื่อหุ้มปอด หากผู้ป่วยมีลมรั่วในช่องอกเกิดขึ้นหลายครั้ง อาจต้องพิจารณารักษาสาเหตุโดยมีหัตถการทำลายถุงซิสต์ให้หมดไป